Presbyond เลเซอร์ที่ช่วยให้มองใกล้ดีขึ้น

พ.ญ. ฐิดานันท์

พ.ญ. ฐิดานันท์

Presbyond เป็นเลเซอร์ที่ใช้ในการช่วยให้มองใกล้ดีขึ้น อีกนัยหนึ่งเป็นการช่วยเรื่องสายตายาวก่อนอื่นเรามารู้จักสายตายาวกันสายตายาว

สายตายาวคืออะไร?

เมื่อพูดถึงสายตายาวที่เรารู้จักกัน คือ การมองเห็นระยะใกล้ไม่ชัด ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกับการมองใกล้ก่อน ว่ามีกระบวนการอย่างไร เมื่อคนเราทุกคนมองใกล้เราจะใช้กล้ามเนื้อวงแหวนในตาที่อยู่รอบเลนส์แก้วตาหดเกร็ง ทำให้เลนส์แก้วตาป่องมากขึ้นมาโฟกัสที่ใกล้ได้ชัดขึ้น 

แต่เมื่ออายุมากขึ้นหลังอายุ 40 ปี กล้ามเนื้อตาล้าลง เลนส์แก้วตาแข็งขึ้น ทำให้กระบวนการปรับโฟกัสมองใกล้ดังกล่าวแย่ลงกว่าตอนอายุน้อย 

อาการสายตายาว

 อาการจะเริ่มต้นด้วยการต้องเพ่งมากขึ้น อาจจะต้องพยายามขมวดคิ้วช่วย ปวดหัว ปวดตา ต้องยืดแขนออกเพื่อดันวัตถุที่อ่านออกห่างตา ยิ่งสมัยปัจจุบัน คนเรามองใกล้มากขึ้นทั้งใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงาน กลับบ้านก็ยังใช้โทรศัพท์มือถือต่ออีก ปัญหาสายตายาวยิ่งจะรู้สึกมากขึ้น

การแก้ไขโดยทั่วไป

ดังนั้นจะมีคนที่ไม่ชอบสายตายาวและรำคาญกับอุปกรณ์เสริมต่างๆ จะมีวิธีใดที่รักษาสายตายาวให้หายกลับมามองใกล้ชัดเจนเหมือนสมัยตอนอายุน้อยหรือไม่ คำตอบคือ ไม่มี เพราะสายตายาวเป็นความแก่ภายในลูกตา

แล้วการใช้เลเซอร์ ช่วยเรื่องสายตายาวได้อย่างไร ?

เลเซอร์ไม่สามารถเข้าไปในลูกตาเพื่อแก้ไขความเสื่อมของกล้ามเนื้อตาและเลนส์แก้วตาที่ใช้มองใกล้ได้ แต่เลเซอร์แก้ไขได้แค่ภายนอก คือบริเวณกระจกตาได้
โดยการทำ FemtoLASIK หรือ PRK โดยใช้เลเซอร์ Presbyond มาแก้ไขปัญหาการมองใกล้ที่เกิดจากสายตายาวตามอายุ นอกจากนี้ ยังแก้ไข สายตาสั้น สายตาเอียง ได้พร้อมกันในคนเดียวด้วยเทคโนโลยีเลเซอร์ไร้ใบมีด (เลเซอร์ทุกขั้นตอน) ไม่ว่าจะเป็นวิธี FemtoLASIK หรือ PRK ซึ่งแพทย์จะประเมินสภาพตาและแนะนำว่าท่านเหมาะสมกับวิธีใด

เลเซอร์ Presbyond จะออกแบบให้เกลากระจกตาให้ โค้งป่องมากขึ้นด้านล่างซึ่งคนเราใช้ในการมองใกล้ ทำให้เป็นการเสมือนประหนึ่งเพิ่มเลนส์นูนที่ใช้อ่านหนังสือเข้าไปที่กระจกตา หรือเรียกว่าเป็นการเพิ่ม  Spherical Aberration ทำให้มองใกล้ชัดขึ้น เพิ่มความยาวโฟกัสมากขึ้น (Depth of focus)

คุณสมบัติเด่นของวิธีนี้ คือ ช่วยให้คนไข้สามารถมองเห็นทั้งระยะใกล้ ระยะกลาง และระยะไกลได้ชัดเจนในตาเดียวกัน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็นให้ดีขึ้น แต่เนื่องจากเราไปเกลาโค้งกระจกให้ป่องมากขึ้นเพื่อมองใกล้จะทำให้มองไกลไม่ชัดที่สุด ซึ่งอาจทำให้บางท่านอาจไม่ชอบได้

นอกจากนี้ด้วยข้อจำกัดที่ไม่สามารถปรับความโค้งของกระจกตาให้โค้งมาก ๆ เพราะจะทำให้มองไกลไม่ชัดจนเกินไป จึงต้องปรับความโค้งกระจกตา 2 ข้างให้โค้งไม่เท่ากันเล็กน้อย เพื่อให้ตาแต่ละข้างรับผิดชอบระยะโฟกัสที่เหลื่อมกันเล็กน้อย เป็นผลให้เมื่อมองด้วยสองตาแล้วจะได้  Depth of focus หรือความชัดเจนแต่ละระยะดีขึ้น โดยใช้หลักการที่ว่า

ตาข้างที่ถนัด (Dominant)

จะปรับความโค้งกระจกตาเล็กน้อย เพื่อช่วยในการมองระยะกลางและไกล โดย ไม่ทำให้การมองระยะไกลลดลง

ตาข้างที่ไม่ถนัด (Non Dominant)

จะปรับความโค้งกระจกตามากกว่า เพื่อให้มองระยะใกล้และกลางได้ดี จึงทำให้เมื่อมองสองตาพร้อมกัน จะมองเห็นได้ทั้งระยะใกล้กลาง และไกลเมื่อมอง 2 ตาพร้อมกัน โดยไม่ต้องพึ่งแว่นสายตา

การปรับกระจกตาให้โค้งจากเดิม ทำให้การมองไกลอาจไม่ชัดที่สุด แต่จะไม่รู้สึกงง เพราะสายตาสองข้างต่างกันมากเกินเหมือน วิธี Monovision ที่ใช้วิธีทำให้สายตามองชัดที่ไกลช้างหนึ่ง และ ที่ใกล้อีกข้างหนึ่ง แต่ในบางคนหลังทำ Presbyond แล้ว อาจใส่แว่นตาเพื่อมองไกลช่วยเมื่อจำเป็น อาทิ ตอนขับรถกลางคืน ฯลฯ

อย่างไรก็ดีเนื่องจากความเสื่อมของกล้ามเนื้อตาและเลนส์แก้วตาภายในยังคงเสื่อมไปตามอายุ ในขณะที่ เลเซอร์ Presbyond ไปปรับที่ด้านนอกของกระจกตา จึงคงประสิทธิภาพการมองระยะใกล้ได้ 7 – 8 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการเพ่ง สภาพความแข็งแรงของกล้ามเนื้อตา และ ความเร็วในการเสื่อมของเลนส์แก้วตาของแต่ละคน

บางท่านอ่านแล้วอาจจะสับสน แนะนำให้ไปตรวจประเมินสภาพตา ในวันประเมินสภาพสายตาแพทย์จะลองเลนส์  trial lens ให้ดูว่าพอใจหรือรับได้หรือไม่ ถ้าไม่ชอบ งง ก็ไม่ต้องทำ แต่ถ้ารับได้ก็สามารถทำการแก้ไขด้วยเลเซอร์ Presbyond ต่อไปได้

เชิญชมวิดีโอเลเซอร์รักษาสายตายาว ชื่อเดิม LBV laser blended vision ชื่อปัจจุบันคือ Presbyond ค่ะ

พ.ญ. ฐิดานันท์ รัตนธรรม

ผู้เขียน/จักษุแพทย์

แพทย์หญิงฐิดานันท์ รัตนธรรม เเพทย์ที่ทำเลนส์เสริม ICL มากที่สุด อันดับต้นๆ ของประเทศไทย
จบการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และได้เริ่มทำ LASIK มาตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งนับเป็นปีที่มีการนำ LASIK มาใช้แก้ปัญหาสายตาในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี…