FAQs - คำถามที่พบบ่อย

1. มีตั้งหลายวิธี แต่ละวิธีแตกต่างกันยังไง แล้วจะเลือกวิธีไหนดีล่ะ

การแก้ไขสายตาด้วยแสงเลเซอร์ มี RELEX FemtoLASIK และ PRK ดูวิดีโอประกอบเลยค่ะ

RELEX Refractive Lenticule Extraction

ในวิดีโอนี้ใช้ชื่อ SMILE Small Incision Lenticule Extraction ไม่ต้องงง อันเดียวกันค่ะ

เป็นการทำเลสิกแบบแผลเล็ก ใช้เลเซอร์ปรับแต่งโค้งกระจกตาทั้งหมด เมื่อเลเซอร์ปรับแต่งกระจกตาเสร็จแล้ว แพทย์จะใช้เครื่องมือเล็กๆมาดึงโค้งกระจกตาส่วนเกินออก RELEX แก้ไขสายตาสั้นเอียงได้ (Myopia and Astigmatism) แก้สายตายาว (Hyperopia) ไม่ได้

FemtoLASIK

เป็นการทำเลสิก โดยใช้เลเซอร์ตัวแรก เปิดผิวกระจกตาเป็นแผ่น Flap แล้วใช้เลเซอร์ตัวที่สอง มาปรับโค้งกระจกตาด้านใน จากนั้นผิวกระจกตาจะปิดกลับสมานตัวเอง FemtoLASIK

แก้ไขได้ทั้ง สายตาสั้นยาวเอียงได้ (Myopia Astigmatism and Hyperopia) รวมทั้งสายตามองใกล้หรือสายตายาวสูงอายุด้วย Presbyond

PRK

เป็นการปรับโค้งกระจกตาโดยใช้เลเซอร์ตัวที่ 2 ตัวเดียว มาขัดปรับแต่งโค้งกระจกตาจากภายนอก แต่เมื่อขัดเสร็จ จะมีแผลถลอกจากการใช้เลเซอร์ซึ่งไม่มีผิวกระจกตาปิดกลับเหมือน RELEX และ FemtoLASIK

จึงทำให้มีอาการเคืองแสบตา 3-4 วันที่ต้องรอให้ผิวกระจกตางอกมาปิดกลับ นอกจานี้ยังต้องใช้ยาหยอดตาเพื่อให้แผลเรียบขึ้นและมองชัดขึ้นประมาณ 1-2 เดือนแรก ยาหยอดตานี้เป็นสเตียรอยด์อ่อนๆ จึงต้องมีความจำเป็นที่ต้องวัดความดันลูกตาหลังทำเดือนละครั้งขณะที่ต้องใช้ยาหยอดตานี้อยู่ แต่เมื่อแผลเรียบดีแล้ว หยุดหยอดยานี้ ก็ไม่ได้มีผลระยะยาวใดๆต่อไป

PRK แก้ไขได้ทั้ง สายตาสั้นยาวเอียงได้ (Myopia Astigmatism and Hyperopia) รวมทั้งสายตามองใกล้หรือสายตายาวสูงอายุด้วย Presbyond

ขอทำตารางเปรียบเทียบหมู่มวลเลเซอร์นะคะ..

การพิจารณาว่าท่านเหมาะกับวิธีใดเป็นการร่วมการพิจารณาระหว่างท่านกับแพทย์ โดยมีพื้นฐานหลักจากการประเมินสภาพตาของท่าน ที่สำคัญคือ ลักษณะของกระจกตาว่าหนาพอหรือไม่ รูปทรงของกระจกตาแข็งแรงพอที่จะทำแบบใด ปริมาณน้ำตามีพอหรือไม่ หลังจากนั้นแพทย์จะสรุปและอธิบายให้ท่านฟังว่าท่านสามารถทำแบบใดได้บ้าง มีบางท่านอาจจะเลือกไม่ได้เพราะสภาพตาสามารถทำได้เพียงแบบเดียว แต่บางท่านอาจจะทำได้หลายแบบซึ่งอาจมีข้อดีข้อเสียต่างกันในแต่ละราย จากนั้นเป็นการตัดสินใจของท่านเอง

ทีนี้มาถึง ICL

จะเห็นได้ว่าเป็นคนละวิธีกับการใช้เลเซอร์

ในอดีต เรามักจะเข้าใจว่า ICL ทำในคนที่สายตาสั้นเอียงมากๆ กระจกตาหนาไม่พอที่จะทำเลเซอร์แก้ไขสายตาที่กระจกตา แต่ปัจจุบัน concept ได้เปลี่ยนไป ทุกคนสามารถเลือกทำ ICL ได้ทั้งในคนที่สายตาสั้นมากหรือน้อยก็ได้ แต่มีข้อแม้ที่ช่องในตาต้องกว้างพอที่จะใส่เลนส์เสริม ICL นี้ได้ จะทราบได้อย่างไร ก็ต้องมาวัดช่องในตาก่อนจึงจะบอกได้ว่า ทำ ICL ได้หรือไม่

เปรียบเทียบ การทำเลเซอร์ที่กระจกตากับการใส่เลนส์เสริมเข้าไปในตา

ทั้งนี้แต่ละบุคคลมีลักษณะสภาพตาต่างกัน แพทย์จะอธิบายให้ฟังถึงผลที่ได้และข้อดีข้อเสียให้ท่านตัดสินใจ

2. ราคาทำไมต่างกัน?

สอบถามแต่ละที่ได้เลย ราคาจะแยกตามวิธีที่ใช้ แต่ละที่ราคาจะแตกต่างกันบ้าง ตามวิธีที่ใช้ ย้อนกลับไปอ่าน ข้อ 1 เลยค่ะ

3. เจ็บมั้ย?

ยาชาที่ใช้ในการทำเป็นยาหยอด เพราะฉะนั้นตอนหยอดยาชาไม่เจ็บแต่อาจระคายเคืองตาในหยดแรก รอสักครู่ 1-2 ก็จะหายเคือง ชา มีอะไรมาโดนตา ไม่เจ็บแต่ความรู้สึกหนาๆ มีอะไรมาโดนตายังรู้สึกได้บ้าง

ก่อนทำคุณหมอจะทดสอบด้วยการแตะตาก่อน ถ้ายังเจ็บอยู่บอกได้ เพิ่มยาชาได้ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีคนบ่นเจ็บ เพราะเลเซอร์สมัยปัจจุบันสัมผัสตาเบามาก ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ใช้ใบมีดเปิดผิวกระจกตา เครื่องเปิดผิวกระจกตาด้วยใบมีดจะดูดแรงมากจนบางคนรู้สึก หลังทำบางคนมีตาแดงได้ ไม่เหมือน Femto laser ปัจจุบัน ที่ดูดตาเบามากแทบไม่รู้สึก หลังทำตาก็ไม่แดง

4. ตาจะบอดได้มั้ย?

ไม่บอดค่ะ เลเซอร์ต่างๆที่ใช้เป็นเลเซอร์ที่ไม่ได้ทะลุทะลวงเข้าไปในตา มีฤทธิ์แค่ขัดผิวกระจกตาแนวนอนเท่านั้น เป็นเลเซอร์เย็น ไม่ได้มีการเผาไหม้แบบเลเซอร์ในภาพยนตร์ไซไฟ ที่เราเห็นเอามาสู้กัน

5. สายตาจะสั้นขึ้นไหม?

หลักการมีอยู่ว่า เราจะทำต่อเมื่อสายตาคงที่แล้วเท่านั้น เพราะถ้าเราสายตายังไม่คงที่ ทำเสร็จแล้วก็ยังมีโอกาสสั้นขึ้นได้อีก ซึ่งมักเกิดในคนอายุน้อยกว่า 20 ปี

6. ตาแห้งทำได้ไหม?

การทำเลเซอร์ที่กระจกตา จะมีส่วนที่ไปโดนเส้นประสาทตาที่มีหน้าที่กระตุ้นให้น้ำตาไหล เพราะฉนั้นหลังทำตาจะแห้งขึ้นซึ่งจะเป็นชั่วคราวประมาณเดือนแรก หลังจากนั้นเส้นประสาทจะฟื้นตัวกลับมาเองจนน้ำตาเป็นปกติ

แต่ในคนที่ตาแห้งมากก่อนทำก็มีโอกาสตาแห้งมากขึ้นได้ถ้าเส้นประสาทที่ผิวกระจกตาฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นก่อนทำจึงต้องมีการตรวจประเมินสภาพตาโดยละเอียด รวมถึงเรื่องตาแห้งด้วย คุณหมอจะพิจารณาเป็นรายๆไปว่า ตาแห้งแบบไหน ทำได้ไหม อาจจะให้ไปรักษาตาแห้งให้ดีขึ้นก่อนทำ

อย่างไรก็ดี ในรายที่ตาแห้งมากๆ ก็อาจจะไม่ได้ทำ ไม่ต้องเสียใจไป สมัยนี้เรามีเลนส์เสริม ICL ที่ไม่ทำให้ตาแห้งเพิ่มขึ้นเนื่องจากไม่ได้ไปยุ่งอะไรกับเส้นประสาทที่มาเลี้ยงผิวกระจกตา เป็นคำตอบให้คนที่ตาแห้งมากๆและกระจกตาบางได้

7. เลนส์เสริมอันตรายไหม ต้องใส่เข้าไปในตา?

เลนส์เสริม ICL ทำจากวัสดุที่เรียกว่า Collamer ( Collagen+Polymer) เป็นสารที่เฉื่อยไม่มีปฏิกิริยาใดๆกับเนื้อเยื่อของลูกตามนุษย์ สามารถอยู่ในลูกตาได้ยาวนานไปจนแก่ เลนส์นี้บางมากและอ่อนนุ่มมากอีกด้วย

ในลูกตาของเรา มี ช่องว่างเล็กๆที่เลนส์เสริม ICL ที่บางเฉียบสามารถแทรกตัวเข้าไปอยู่ได้ ทั้งนี้ก่อนทำ วันที่มาตรวจประเมินสภาพตา ช่องว่างนี้จะต้องกว้างพอจึงจะทำได้

แล้วมีคนที่ช่องนี้ไม่กว้างพอไหม ตอบว่ามีค่ะ ก็ใส่เลนส์เสริมไม่ได้ ผิดหวังกลับบ้านไป

8. สายตาสั้นเท่าไหร่ถึงจะทำเลนส์เสริมได้?

ในอดีตเราเข้าใจกันว่าเลนส์เสริม ICL จะทำในคนที่สายตาสั้นเอียงมากๆ กระจกหนาไม่พอที่จะทำเลเซอร์แบบใดๆได้จึงต้องมาใส่เลนส์เสริม ICL

แต่ในปัจจุบัน คนที่สายตาสั้นน้อย กระจกตาไม่บางก็ใส่เลนส์เสริม ICL กัน เนื่องจากข้อดีอย่างหนึ่งของ เลนส์เสริม ICL คือความ Reversible หมายความว่า ถ้าเราเอา เลนส์เสริม ICL ออกจากตา ลูกตาก็จะกลับไปเหมือนเดิม ในขณะที่การทำเลเซอร์ไม่ว่าแบบใดกระจกตาจะต้องบางลงไม่มากก็น้อย ซึ่งเราไม่สามารถเอาเนื้อกระจกตากลับคืนมาได้ ตาแห้งแล้วเส้นประสาทผิวกระจกตาที่มีหน้าที่กระตุ้นน้ำตาไม่ฟื้นฟูกลับมา เราก็ย้อนกลับไปให้น้ำตากลับมาเท่าเดิมได้ แต่ เลนส์เสริม ICLไม่ได้ทำให้ตาแห้งมากขึ้นเนื่องจากเป็นการทำที่ไม่ได้โดนผิวกระจกตา

เหล่านี้เป็นเหตุให้คนนิยมทำ เลนส์เสริม ICL มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในคนที่สายตาสั้นเอียงมากหรือน้อยก็ตาม